ทฤษฎี Constructionism

ความเป็นมาของทฤษฎี Constructionism

    ทฤษฎี Constructionism เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 

พัฒนาขึ้นโดย  Professor  Seymour  Papert แห่ง  M.I.T. (Massachusetts Institute of Technology)  สหรัฐอเมริกา โดยพัฒนามาจากทฤษฎี  Constructivism  ของ  Piaget 

piagetpapert

หลักการของทฤษฎี Constructionism

 มีหลักการสำคัญดังนี้  (สุชิน  เพ็ชรักษ์, 2548 :  31 – 34)

     1. หลักการที่ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง หลักการเรียนรู้ตามทฤษฎี Constructionism คือ การให้ผู้เรียนลงมือสร้างสิ่งของหรือประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่มีความหมาย ซึ่งจะรวมถึงปฏิกิริยาระหว่างความรู้ในตัวของผู้เรียนเองกับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมภายนอกสามารถเชื่อมโยงและสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่

     2.  หลักการที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  หลักการตามทฤษฎี Constructionism ครูต้องจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง โดยมีทางเลือกที่หลากหลายและเรียนรู้อย่างมีความสุข  สามารถเชื่อมโยงความรู้ระหว่างความรู้ใหม่กับความรู้เก่าได้ 

ส่วนครูทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและคอยอำนวยความสะดวก

      3. หลักการเรียนรู้จากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม  หลักการนี้เน้นให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ผู้เรียนเห็นว่าคนเป็นแหล่งความรู้อีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญ การสอนตามทฤษฎี  Constructionism    เป็นการจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมคนออกไปเผชิญโลก ถ้าผู้เรียนเห็นว่าคนเป็นแหล่งความรู้สำคัญและสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เมื่อจบการศึกษาออกไปก็จะปรับตัวและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      4. หลักการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ หลักการนี้เน้นการใช้เทคโนโลยีแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง เป็นผลให้เกิดพฤติกรรมที่ฝังแน่นเมื่อผู้เรียน เรียนรู้ว่าจะเรียนรู้ได้อย่างไร (Learning how  to  Learn)

       หลักการของทฤษฎี Constructionism เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติหรือสร้างสิ่งที่มีความหมายกับตนเอง ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้ต้องมีลักษณะเอื้อต่อการให้ผู้เรียนนำมาสร้างเป็นชิ้นงานได้สำเร็จ ตอบสนองความคิดและจินตนาการของผู้เรียน   กล่าวโดยสรุปก็คือ   เครื่องมือทุกชนิดที่สามารถทำให้ผู้เรียนสร้างงานหรือลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้เป็นเครื่องมือที่สอดคล้องตามหลักการทฤษฎี Constructionism     

การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎี  Constructionism

       การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎี  Constructionism เป็นนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียนและนำเสนอผ่านผลงานที่จัดทำ ดังนั้นครูผู้สอนต้องดำเนินการจัดการเรียนรู้ดังนี้ (สุชิน เพ็ชรักษ์, 2548 :  3 – 4)

                     1.  เชื่อมโยงสิ่งที่รู้แล้วกับสิ่งที่ผู้เรียนกำลังเรียน

                     2.  การให้โอกาสผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่มทำโครงการที่ตนเองสนใจ

                     3.  เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอความคิด  ผลงาน  ผลการวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ของ  ตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน

                     4.  ให้เวลาทำงานอย่างต่อเนื่อง

                      ในการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎี  Constructionism  ครูเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ  ความเชื่อดังนี้

                               1.  ต้องไม่ถือว่า  ครูเป็นผู้รู้แต่ผู้เดียว  ผู้เรียนต้องเชื่อตามที่ครูบอก แต่ครูต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ที่จะช่วยเหลือนักเรียนเท่าที่จะช่วยได้ ดังนั้นครูจึงไม่อับอายผู้เรียนที่จะพูดว่า “ครูก็ยังไม่ทราบ พวกเรามาช่วยกันหาคำตอบดูซิ”

                               2.  ต้องพยายามให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด อดทนและปล่อยให้นักเรียนประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง อย่ารีบบอกคำตอบ  ควรช่วยเหลือแนะนำผู้เรียนที่เรียนช้าและเรียนเร็วให้สามารถเรียนไปตามความสามารถของตนเองให้มากที่สุด

                               3. ไม่ควรถือว่า “ ผู้เรียนที่ดีต้องเงียบ ”  แต่ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

                               4.  ต้องไม่ถือว่าการที่ผู้เรียนเดินไปเดินมาในการทำกิจกรรมการเรียนรู้เป็นการแสดงถึงความไม่มีระเบียบวินัย แต่ต้องคิดว่าการเดินไปเดินมาเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และช่วยทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียน

                               5.  ไม่ควรยึดติดกับหลักสูตรมากเกินไป ไม่ควรจะยัดเยียดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นให้กับผู้เรียน ควรคิดว่าการให้เนื้อหาที่จำเป็นแม้จะน้อยอย่างก็ยังดีกว่าสอนหลายๆอย่าง  แต่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้น้อยมากหรือนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ไม่ได้

                               6.  การจัดตารางสอนควรจัดให้ยืดหยุ่น เหมาะสมกับเวลาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฎิบัติกิจกรรมภายในเวลาที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยไป

Image212

แนวการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎี Constructionism

ขั้นตอนตามแนวทฤษฎี Constructionism  ( 5 Steps to Constructionism ) ดังนี้

            ขั้นที่ 1 จุดประกายความคิด (Sparkling)

            ขั้นที่ 2 สะกิดให้ค้นคว้า (Searching)

            ขั้นที่ 3 นำพาสู่การปฏิบัติ (Studying )

            ขั้นที่  4 จัดองค์ความรู้ ( Summarizing)

            ขั้นที่ 5 นำเสนอควบคู่การประเมิน ( Show and Sharing)

บรรณานุกรม

  สุชิน  เพ็ชรักษ์. รายงานการวิจัย เรื่อง การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาในประเทศไทย.

                       พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548

ใส่ความเห็น